Popular Posts

Saturday, April 27, 2013

สมุนไพรแก้ไอเจ็บคอ


สมุนไพรแก้ไอเจ็บคอ
 
ไอหรือเจ็บคอ เป็นอีกอาการหนึ่งที่มักเป็นควบคู่กับไข้วัด เมื่อเป็นแล้วจะรู้สึกทรมานมาก ทั้งก่อให้เกิดอาการไอจนนอนไม่หลับ แต่การไอเป็นกลไกหนึ่งของร่างกายที่จะช่วยขับสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในระบบหายใจ ซึ่งก็คือเสมหะนั่นเอง สาเหตุที่สำคัญคือ การติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ถ้าไอเรื้อรังไม่หายสักที ก็อาจเกิดจากหลายสาเหตุ    อาการไอ มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบไอแห้ง จะไม่มีเสมหะ เกิดจากการระคายเคืองหรือคันบริเวณลำคอ ซึ่งอาจเกิดจากเศษอาหารเล็กๆ ฝุ่น ควันกลิ่นฉุน บุหรี่ หรืออาการเย็น โรคหืด ไอแห้งแบบไม่มีเสมหะนี้ อาจมีอาการเสียงแหบแห้งร่วมด้วย อาการไอแบบนี้รักษาหายยาก
ส่วนการไอแบบมีเสมหะเป็นอาการไอที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เกิดการติดเชื้อไข้หวัด จากไวรัส ภูมิแพ้ น้ำมูกลงคอ ถ้ามีเสมหะใสๆ ไม่มีสีร่วมด้วยก็ยังไม่ถึงขั้นมีการติดเชื้อ ใช้ยาพวกขับเสมหะได้ แต่ถ้าไอแบบมีเสมหะเหนียวข้นเป็นสีเหลืองจนถึงเขียว แสดงถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย ต้องใช้ยาปฏิชีวนะช่วยด้วย เช่น ฟ้าทะลายโจร จะได้ผลดีแต่ในกรณีที่มีเสมหะเป็นสีชมพูหรือสีแดง ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจมีปัญหาเกี่ยวกับโรคปอด เช่น ปอดชื้น หรือน้ำท่วมปอด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
ในทางการแพทย์แผนไทยมีการใช้ตัวยาหลายรสในการรักษาอาการไอเจ็บคอ เนื่องจากไข้หวัด เช่น ใช้รสเปรี้ยว รสขม รสหวาน ยาที่ใช้รักษามีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ยาแก้ไอที่ทำให้ชุ่มชื่นลำคอ พวกนี้จะมีรสหวานช่วยกระตุ้นให้เกิดเสมหะเพื่อขับออกมาได้ง่าย หรือยาสมุนไพรกลุ่มที่มีรสเปรี้ยว ช่วยลดอาการไอและขับเสมหะ ซึ่งจำแนกดังนี้
- กลุ่มที่มีสารสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ได้แก่พวกรสเผ็ดร้อน ได้แก่ ขิง กระเทียม ดีปลี
 - กลุ่มที่มีสารสำคัญเป็นกรด คือ รสเปรี้ยว ตามสรรพคุณ ยาไทย รสเปรี้ยวบำรุงธาตุน้ำ กัดเสมหะ ฟอกโลหิต ได้แก่ มะนาว มะขามป้อม รสเปรี้ยว มีกรดอินทรีย์ที่สำคัญ ได้แก่ วิตามินซี
- กลุ่มที่มีสารรสขม ได้แก่ มะแว้งเครือ มะแว้งต้น เพกา
- กลุ่มที่มีสารรสหวาน ได้แก่ ชะเอมเทศ
- กลุ่มที่มีสารรสอื่นๆ เช่น มะเขือขื่น
จะเห็นว่ามีการใช้สมุนไพรที่มีหลายรส กรณีที่ใช้กลุ่มที่มีน้ำมันหอมระเหยนั้นใช้ในกรณีที่มีอาการเจ็บคอร่วมด้วย กลุ่มนี้จะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ สมุนไพรที่เหมาะสำหรับการใช้ส่งเสริมดูแลสุขภาพ เช่น    กระเทียม แก้เจ็บคอและรักษาทอนซิลอักเสบ เอากระเทียมทุบบุบๆ คั้นเอาน้ำกระเทียมผสมกับน้ำอุ่นและเกลือเล็กน้อย ใช้กลั้วคอ ในกระเทียมมีสารอัลซิลิน เป็นยาปฏิชีวนะช่วยในการฆ่าเชื้อ รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ แก้ไอ    มะขามป้อม ใช้ผลสด รสเปรี้ยวอมฝาด แก้ไอ ช่วยขับเสมหะ
โดยเอาผลแก่จิ้มเกลือรับประทาน หรือเอาผลแก่ต้มน้ำ รินเอาแต่น้ำดื่ม หรือเนื้อผลแก่สด 2-3 ผล โขลกให้แหลก เหยาะเกลือเล็กน้อย ใช้อมหรือเคี้ยววันละ 3-4 ครั้ง ช่วยแก้ไอเรื้อรังได้ดี    มะแว้งเครือ-มะแว้งต้น รสขมขื่นเปรี้ยว แก้ไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะให้เอาผลแก่สด 5-10 ลูก โขลกพอแหลก คั้นเอาน้ำ แทรกเกลือ จิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดสัก 1-2 ลูก เคี้ยวกลืนทั้งเนื้อและน้ำ กินบ่อยๆ จนอาการดีขึ้น    มะเขือขื่น ใช้ราก รสเอียนขื่นเปรี้ยว เป็นยาขับเสมหะและน้ำลาย แก้ไอ กระทุ้งพิษไข้ แก้เสมหะ ขับเสมหะแก้เสมหะ
โดยเอาส่วนของรากแช่กับน้ำสะอาด จิบดื่มเรื่อยๆ ใช้แก้ไอเรื้อรังหรือแก้ไอที่มีอาการไอมากๆ ได้ผลดี (แช่วันแรก – 2 วัน น้ำยาจะรสชาติยังจืด แต่หลังจาก 3 วันแล้วตัวยาจะมีรสขมมาก ใช้ไปจนอาการไอหาย)    ชะเอมเทศ ใช้ราก รสหวานขมชุ่ม แก้น้ำลายเหนียว แก้ไอ ทำเสมหะให้งวด ช่วยให้ชุ่มคอ บำรุงปอด ใช้รากชะเอมเทศ 5 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ ข้อควรระวัง ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยที่โลหิตมีโปแทสเซียมต่ำมากหรือน้อยเกินไป หรือผู้ป่วยโรคไตบกพร่องเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์    หนุมานประสานกาย ใบ รสหอมเผ็ดปร่าขมฝาดเล็กน้อย แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้ปอดอักเสบ แก้หลอดลมอักเสบ แก้เส้นเลือดในสมองแตก ใช้ใบสดเล็กๆ 9 ใบ ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-เย็น รักษาโรคหืด แพ้อากาศ ขับเสมหะ และโรคหลอดลมอักเสบหรือใช้ใบสดขนาดเพสลาด สัก 3-5 ใบ ล้างให้สะอาด เคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลื่นเอาแต่น้ำ หรือคั้นเอาน้ำดื่มก็ได้ ช่วยแก้ไอได้ดี
ยาอำมฤควาที ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไอแห้งๆ ระคายคอ แต่ไม่มีอาการเจ็บคอ ใช้ยาอัมฤควาทีช่วยลดอาการระคายเคืองเนื่องจากเสมหะข้นเหนียว ในกรณีที่มีอาการเจ็บคอคือมีการติดเชื้อร่วมด้วย ต้องใช้ร่วมกับยาตัวอื่น เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้เสมหะไม่เหนียวข้น เสมหะจะอ่อนตัวและหลุดออกมาได้ง่าย    ยาประสะมะแว้ง ยานี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการไอมีเสมหะมาก ประสะมะแว้งจะช่วยกำจัดเสมหะออกได้ดี ในกรณีที่รับประทานกับมะนาวแทรกเกลือต้องรับประทานทันที เพราะจะได้วิตามินซีด้วย ซึ่งจะช่วยลดไข้ได้เร็ว ช่วยขับเสมหะ ทำให้เสมหะค่อยๆ ลดลง    ในผู้ป่วยบางรายที่ไอแล้วมีเลือดปนออกมาเล็กน้อย เมื่อรับประทานประสะมะแว้งแล้วอาการจะดีขึ้น แต่ไม่ควรใช้มะนาว ให้ใช้เกลืออย่างเดียว.

No comments:

Post a Comment